ชะตากรรมของพระพิมลธรรม
สมัยแผ่นดินกรุงธนบุรี
อุทิส ศิริวรรณ
เขียน
๙ เมษายน ๒๕๖๔
———
สืบเนื่องจากเดินทางไปร่วมงานสมาคมศิษย์วัดพระเชตุพน
เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา
เดินผ่านตำหนักวาสุกรี คณะกุฏิ น. ๑๖
แล้วหวนรำลึกถึงชะตาตนและชะตาท่าน
ครั้งหนึ่งในชีวิต สมัยปี ๒๕๓๐ เคยพำนักอยู่ที่คณะกุฏิ น. ๑๗
เป็นปี และชีวิตชอกช้ำไม่ฉ่ำหวาน สอบตกประโยค ๘ ในปี ๒๕๓๑
ความผิดหวังโสกาดูรเศร้าโศกเสียใจเลยจำใจจำลานิราศร้าง
ไปอางว้างนอนระทมที่วัดราชบุรณะ ไม่ไกลกันนัก
และเมื่อกาลเวลาเยียวยารักษาบาดแผลแห่งความล้มเหลว
ก็ลุกขึ้นสู้พยายามทุ่มเทสอบใหม่อีกครั้ง จนสอบได้ประโยค ๘
ในปี ๒๕๓๒ และประโยค ๙ ในปี ๒๕๓๓ ขณะเป็นสามเณรจนได้
พร้อมกับปริญญาตรีจาก มสธ ๑ ใบ และปริญญาตรีจาก มจร อีก ๑ ใบ
รวมเป็น ๓ ปริญญาพร้อมกันในปี ๒๕๓๓
เมื่อนึกถึงสัจธรรมชีวิตว่า
“หวานกระท้อนตอนช้ำทำให้คิด
ส่วนชีวิตชอกช้ำไม่ฉ่ำหวาน
กลับโชกชื่นชลนาอุราราน
ไม่ฉ่ำหวานเหมือนกระท้อนตอนช้ำเลย”
หลวงตาแพรเยื่อไม้ วัดประยุรวงศาวาส แต่ง
พอมาค้นคว้าประวัติศาสตร์ ศึกษาชีวิตปราชญ์ในอดีต
กลับพานพบความจริงว่า “สมเด็จพระพนรัตน์” เอง
สมัยเป็นพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จ ตำแหน่งอาถรรพณ์ที่ “พระพิมลธรรม”
ก็เผชิญความผันผวนชีวิต หนักหนาสาหัส
จากพระราชาคณะที่เลื่อนอีกขั้นก็เป็น “สมเด็จ”
ทว่าชะตากลับ ถูกถอดออกจากสมณศักดิ์ ถูกเฆี่ยนถึง ๑๐๐ ที
ไม่ตายก็บุญนักหนา ทว่าพอชะตาพลิกกลับ
ก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์คืน และได้เลื่อนสถาปนาอีกขั้นเป็น
“พระสมเด็จ” นับว่าเป็นเรื่องราวที่ควรขบคิด
เลยนำมาลงไว้ให้อ่านและพิจารณาความเป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้
ของชีวิตคนเรา
——-
พระพิมลธรรม เกิดในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓
ปีพุทธศักราช ๒๒๗๗ ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี ได้เป็นพระราชาคณะที่
“พระธรรมเจดีย์” ครองวัดนาค เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชตีได้เมืองสวางคบุรี
ได้นิมนต์ให้พระธรรมเจดีย์ขึ้นไปปกครองสังฆมณฑลฝ่ายเหนือให้เรียบร้อย
โดยพำนักที่เมืองพิษณุโลก พอกลับลงมาเมืองหลวง ก็ให้ครองวัด
“โพธาราม” หรือวัดพระเชตุพนในปัจจุบัน
แผ่นดินปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ร้อนระอุ
““… เหตุผลกรรมของสัตว์ พื้นแผ่นดินร้อน ราษฎรเหมือนผลไม้ เมื่อต้นแผ่นดินเย็นด้วยพระบารมี ชุ่มพื้นชื่นผลจนมีแก่น ปลายแผ่นดินแสนร้อนรุมสุมรากโคน ล้มถมแผ่นดินด้วยสิ้นพระบารมีแต่เพียงนั้น …” (จดหมายเหตุความทรงจำ กรมหลวงนรินทรเทวี ฯ , หน้า ๑๖)
การคณะสงฆ์วุ่นวายปั่นป่วน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสนพระทัยกรรมฐาน
ทรงนั่งสมาธิเป็นเวลานานจนทรงเชื่อว่าพระองค์ทรงบรรลุโสดาปัตติผล
จึงมีพระราชปุจฉาถามพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่นับแต่สมเด็จพระสังฆราชเป็นต้นไปว่า
พระสงฆ์ที่ยังไม่ได้บรรลุธรรมไหว้คฤหัสถ์ได้หรือไม่ พระสังฆราช (ชื่น)
วัดหงส์ และพระรัตนมุนี มีวิสัชนาตอบว่า “ได้”
ส่วนสมเด็จพระสังฆราช (วัดบางว้าใหญ่) ปัจจุบันคือวัดพระเชตุพน
พระพุฒาจารย์ และพระพิมลธรรม วัดโพธาราม ได้ถวายพระพรว่า
“..ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาก็ดี แต่เป็นหีนเพศต่ำ อันพระสงฆ์
ถึงเป็นปุถุชน ก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร์แลพระ
จตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐอันเป็นพระโสดาบันนั้นก็บ่มิควร…”
และไม่ยอมไหว้พระเจ้าตากสินมหาราช
ชะตากรรมของพระพิมลธรรมอันเลวร้ายสุดในชีวิตคือ
ต้อง “ราชภัย” มีพระราชอาญาให้ควบคุมตัวไปลงทัณฑกรรม
ณ วัดหงส์ หรือวัดหงส์รัตนารามในสมัยปัจจุบัน พร้อมกับ
สมเด็จพระสังฆราช วัดบางหว้าใหญ่ พระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อยกับทั้งพระฐานานุกรมมหาบาเรียนทั้งหลาย และมีคำสั่ง
ให้โบยตีเฆี่ยนหลังพระพิมลธรรมพร้อมคณะรูปละ ๑๐๐ ที
และรับสั่งให้ถอดถอนออกจากสมณศักดิ์พระราชาคณะ
กลายเป็นพระที่ไร้สมณศักดิ์
ครั้นสิ้นแผ่นดินกรุงธนบุรี รัชกาลที่ ๑ เสด็จขึ้นครองราชย์
ได้ตรัสสรรเสริญพระพิมลธรรม วัดโพธาราม เป็นต้นว่า
“…พระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์นี้ มีสันดานสัตย์ซื่อมั่นคง
ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาโดยแท้ มิได้อาลัยแก่กายและชีวิต
ควรเป็นที่นับถือไหว้นบสักการบูชา…”
รัชกาลที่ ๑ จึงโปรดให้คืนสมณศักดิ์ “พระพิมลธรรม”
และให้กลับไปครองวัดโพธารามเช่นเคย และให้พระ
วัดบางหว้าใหญ่ สถานที่สถิตสมเด็จพระสังฆราช
และพระวัดโพธาราม เข้ามาบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง
เมื่อคราวสังคายนาพระไตรปิฎก พ.ศ. ๒๓๓๑ สมัยแผ่นดินรัชกาลที่ ๑
พระพิมลธรรม วัดโพธาราม เป็นผู้อ่านประกาศเทวดา และเป็นแม่กอง
ตรวจชำระพระไตรปิฎกในส่วนของพระอภิธรรมปิฎกด้วย
ดังความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า
“…ในวันเดือนกติกบูรณมีเพ็ญเดือน ๑๒ ในปีวอกสัมฤทธิศก
พระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๓๓๑ พระวัสสา เป็นพุธวาร ศุกรปักษ์ดฤถี
เพลาบ่ายสามโมง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์
ก็เสด็จพระราชดำเนินด้วยมหันตราชอิสริยบริวารยศ พร้อมด้วยเครื่องสูง
และปี่กลองชนะแห่งออกจากพระราชวังไปยังพระอาราม เสด็จเข้าสู่อุโบสถ
ทรงถวายนมัสการพระรัตนตรัยด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว
อาราธนาพระพิมลธรรมให้อ่านคำประกาศเทวดา ในท่ามกลางสงฆสมาคม
ขออานุภาพเทพยเจ้าทั้งปวงให้อุปถัมภนาการให้สำเร็จกิจมหาสังคายนา
แล้วให้แบ่งพระสงฆ์ออกเป็นสี่กอง สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่กอง
ชำระพระสุตตันตปิฎกกองหนึ่ง พระวันรัตนเป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎกกองหนึ่ง
พระพิมลธรรมเป็นแม่กองชำระพระอภิธรรมปิฎกกองหนึ่ง พระพุฒาจารย์
เป็นแม่กองชำระสัททาวิเสสกองหนึ่ง…”
กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒, หน้า ๒๗๑
ต่อมาเมื่อสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระพนรัตน์ว่างลง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
จุฬาโลกมหาราช จึงโปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์ พระพิมลธรรม วัดโพธาราม
ขึ้นเป็นสมเด็จพระพนรัตน์ ในปี ๒๓๓๗
พระพิมลธรรม ผู้ชะตากลับ กลายเป็นสมเด็จพระพนรัตน์ สถิต ณ วัดพระเชตุพน
เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ดังปรากฏว่า
เมื่อมรณภาพลงในปี ๒๓๕๘ รัชกาลที่ ๒ ได้สถาปนาพระพิมลธรรม (อาจ)
วัดสระเกศ ขึ้นเป็นสมเด็จพระพนรัตน ในปี ๒๓๕๙
ต่อมาได้มีการนำอัฐิของสมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน
บรรจุเอาไว้ที่ในพระปรางค์ภายนบริเวณพระตำหนักวาสุกรี น. ๑๖
ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ปรากฏในโคลงดั้นปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนพระนิพนธ์ของ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ความว่า
“ถูโปยมุตฺตโม เสฏฺโฐ นราธิเปน ฐาปิโต
วนรตนเถรสฺส วามาสฺส สํฆราชิโน
ธาตุโย นิธหิตฺวาน เชตวนวิหารเก
น กมฺปตุ ภเยเหว ยาว ติฏฺฐติ สาสนํ
อิมินา ปุญฺญเตเชน สทา ปาเลตุ เทวตา ฯ
สถูปเสถียรธาตุไท้ ธิบดี สงฆ์แฮ
วันรัตน์เจ้าจอมชี ชื่ออ้าง
ปรากฏเกียรติมุนี เสนอโลกย ไว้เอย
องค์อดิศวรสร้าง สืบหล้าแหล่งเฉลิม ฯ
จวบจุลศักราชถ้วน พันพรรษ ษาเฮย
ฉันพฤติสตาธฤกสัต เสษไส้
กรรติกมาศอัศสังวัจฉร กาฬปักษ ปางพ่อ
พุฒสี่ดฤษถีได้ ธาตุตั้งสถูปสถาน ฯ
ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน กรุงเทพฯ, ๒๕๔๔, หน้า ๓๗๗
ในสมัยรัชกาลที่ ๑
สมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน เป็นนักปราชญ์
เป็นพระราชาคณะรูปสำคัญมีความรู้ถึงขั้นแต่งหนังสือได้
มีผลงานภาษาบาลีและภาษาไทย ที่สำคัญคือ
๑. พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาภาษาบาลี
๒. สังคียติยวงศ์ ภาษาบาลี
๓. จุลยุทธการวงศ์
๔. มหาจุลยุทธการวงศ์
๕. พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน
๖. คำประกาศสังคายนาพระไตรปิฎก
๗. ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์นครกัณฑ์
อ้างอิง History of the Pali Scriptures:
Sangitiyavamso by Somdej Phra Phonnarat, Transliterated and edited by
Santi Pakdeekham, 2020, pp XLix – Lxi