220. อย่ายอมแพ้
คอลัมน์ How to Heng
23 มกราคม 2561
“การบริการวิชาการสู่สังคมเป็นวิทยาทาน”
โดย
ศาสตราจารย์ ดร. อุทิส ศิริวรรณ
ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอก ทวิปริญญา
Ph.D. & D.B.A. in Business Administration Program
Charisma University, Providenciales, TC
and Apollos University, Great Falls, Montana, USA
เพื่อนๆ นักขายครับ วันนี้จะนำเสนอ “ทฤษฎีเฮง” ตอนว่าด้วย “อย่ายอมแพ้”
ผมสังเกตว่า คนที่จะเฮง จะร่ำ จะรวย ต้อง “กล้า” ที่จะ “เปลี่ยน” ทัศนคติ
และ “เปลี่ยน” ความคิด โดยมีเป้าหมายเพียงแค่คำๆ เดียวคือ “อย่ายอมแพ้” หรือ “Never give up”
หลายๆ คนในช่วงนี้อาจจะได้ยินชื่อ แจ็ค หม่า กันมาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะว่าล่าสุดก้าวขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศจีน หลังบริษัทอาลีบาบาเข้าตลาดหุ้นในนิวยอร์ก
ซึ่งจากรายงานล่าสุดนายหม่ามีทรัพย์สิน รวมมูลค่าทั้งสิ้นราว $39.7 Billion หรือ 1.2 ล้านล้านบาทไทย โดยเป็นCEO ของอาลีบาบาซึ่งตั้งขึ้นในปี 2542 ซึ่งเป็นรูปแบบบริษัทอีคอมเมิร์ชชื่อดังของจีน ประวัติของมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศจีน เป็นภาพสะท้อนคำว่า “อย่ายอมแพ้”
หม่า เป็นคนที่ “กล้าคิด กล้าฝัน กล้าหวัง กล้านำ กล้าเปลี่ยน” ขณะที่คนจีนทั่วไป
“กลัวเจ๊ง กลัวเจ็บ กลัวจน กลัวเสี่ยง กลัวผิดพลาด กลัวผิดหวัง”
หม่าคิดและเชื่อว่า “Never give up” แปลว่า “ไม่ยอมแพ้” หรือ “ล้มเหลวได้ แต่ไม่ล้มเลิก”
จากชีวิตครูสอนภาษาอังกฤษ แจ็ค หม่า “มองกว้าง คิดไกล ใฝ่สูง”
ล่าสุดเขาก้าวเข้าสู่การเป็นเจ้าของกิจการอาลีบาบายักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซในเมืองจีน ซึ่งสามารถเขี่ย eBay ตกบัลลังก์ในจีนแผ่นดินใหญ่
ผมมีข้อสังเกตว่า คนที่ดวงดี ดวงเฮง คือคนที่ “กล้า” ฝืนดวงชะตา ไม่ปล่อยให้ชีวิตตกอยู่ใต้ “ความเชื่อ” หมกมุ่นด้านใดด้านหนึ่ง เพียงด้านเดียว แต่มักจะเป็นคนที่กล้าคิด กล้าบุกเบิก กล้าริเริ่ม กล้าลงมือทำตามความคิด ความฝัน ความหวัง และจินตนาการ มีเป้าหมาย และแผนที่ชัดเจนว่าจะต้องทำให้สำเร็จได้ ตามแผนที่วาง และคาดการณ์เอาไว้
แจ็คหม่า มีวิสัยทัศน์ชัดเจนว่า Never give up แปลตรงตัวว่า “อย่ายอมแพ้”
คำว่า “อย่ายอมแพ้” นี้ได้ “เปลี่ยนแปลงชีวิต” ของคนผู้หนึ่งชัดเจน ทันตาเห็น
การที่แจ็คหม่าค้นพบ “ความลับ” ของคำว่า “อย่ายอมแพ้” และพลังสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัดที่เกิดจากคำว่า “อย่ายอมแพ้” เพียงคำเดียว คำดังกล่าวได้เปรียบเสมือน “แผนที่” นำทางชีวิตแจ็คหม่า
ให้ออกเดินทางไกลจากเมืองจีนไปอเมริกา และจากอเมริกา กลับเมืองจีน แจ็คหม่าใช้คติ “อย่ายอมแพ้” ในการทำงานแต่ละวัน เลือกคำว่า “อย่ายอมแพ้” ให้เป็นเหมือนตัวเร่งที่ทรงพลังในการเปลี่ยนแปลงชีวิต
เมื่อเลือกแนวคิด “อย่ายอมแพ้” กำหนด “ทิศทาง” และ “เป้าหมาย” ในการขับเคลื่อน “แผน” ให้สำเร็จตามเป้า ลดละเลิกการผัดวันประกันพรุ่ง ท้อได้แต่ไม่เคยท้อถอย ล้มเหลวได้แต่ไม่ยอมล้มเลิก
เมื่อเดือนมิถุนายน 2550 แจ็คหม่าเล่าว่า “ความคิดที่แย่” ยังดีกว่า “ไม่มีความคิด” เขาได้ขยายความว่า “คนมีความคิดแย่ๆ ยังดีกว่าคนไม่มีความคิด อย่าลังเล รีรอที่จะรีบลงมือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือที่คาดว่าจะเกิดในอนาคตทันทีทันใดทันใจ และพยายาม “ลอกเลียนและเรียนรู้” นำเอา “ความคิดดีๆ” ที่เรียนรู้จากเว็บต่างๆ และคู่แข่งมาปรับปรุงพัฒนาวิธีการทำงาน และกิจการของตนให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้” ซึ่งแนวคิด “ความคิดที่แย่” ของเขา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขา “ไม่เคยยอมแพ้” ฝรั่ง และลงมือคิดและทำจนสามารถสร้างกิจการมูลค่าขนาดเท่ากับกิจการของฝรั่งได้สำเร็จ
เจาะลึก “วิสัยทัศน์” แล้วพบว่าแจ็คหม่ามี “คำถามเปลี่ยนชีวิต” โดยเขามี “หลักการทำงาน 3 ข้อ” ที่สำคัญและตัวเขามักจะถามตนเองและเพื่อนร่วมงาน
คำถามแรกนั่นคือ “เราต้องการทำอะไร?” คำถามที่ 2 “เราจะเริ่มต้นทำอะไร?” และคำถามสุดท้าย “นานแค่ไหนจึงจะเห็นผลงานบังเกิด?” ซึ่งทั้ง 3 คำถาม สอดคล้องกับคติว่า “อย่ายอมแพ้”
หลักคิด “อย่ายอมแพ้” ของเขาคือ “การเปลี่ยนบรรยากาศ” แจ็คหม่าจะไม่เคย “เอาดีใส่ตัว เอาชั่วโยนให้คนอื่น” เขาจะค่อยๆ แก้ไขปัญหาและข้อผิดพลาดร่วมกับทีมงานในกิจการอาลีบาบา
แจ็คหม่าตั้งข้อสังเกตว่า “ภาพยนตร์จีน” คนที่เป็น “ตัวเอก” หรือ “ฮีโร่” ตอนจบมักจะตายเสมอ แตกต่างจาก “หนังฮอลลีวูด” ที่ “พระเอก” จะยังคงมีชีวิตอยู่ จนแจ็คหม่าอดตั้งคำถามดังๆ กับคนจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ได้ว่า “ถ้าพระเอกตายกันหมดทุกเรื่อง ใครจะกลายเป็นฮีโร่?” ซึ่งแนวคิด “ฮีโร่คือพระเอกมีชีวิตอยู่ ไม่ตายตอนจบ” แบบฝรั่ง เป็นแนวคิดที่สอดรับกับแนวคิด “อย่ายอมแพ้” ของเขา
แจ็คหม่าเล่าย้อนอดีตกลับไปถึงปี 2543 เขาและทีมงาน “ฝัน” ที่จะสร้างบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนมากที่ประชุมมองว่า “ไม่สำเร็จหรอก เป็นไปไม่ได้” แม้ว่าจะถูก “ดับฝัน” และ “ทำลายฝัน” ที่เขาคิดและเชื่อเสมอว่าเป็น “ความฝันอันยิ่งใหญ่” ซึ่งความเป็นจริงในปี 2542-2543 “กิจการออนไลน์” ต่างก็ปิดตัวลงรายแล้วรายเล่า แต่เขาก็ยังพูดคุยกับทีมถึงแนวทางที่จะต่อสู้ว่า “อย่ายอมแพ้” โดยลงมือทำด้วยความเชื่อใน “ฝันอันยิ่งใหญ่” ที่มี เมื่อแจ็คหม่ามุ่งมั่น อดทน พยายาม ทุ่มเทไม่หยุดยั้ง และฝึก “ความสามารถ” ที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่าจนความผิดพลาดเหลือน้อยลงๆ จากนั้นก็ค่อยๆ ประสบความสำเร็จจนได้ในท้ายที่สุด “วันนี้เราคิดว่าเราย่ำแย่แล้ว พรุ่งนี้เราอาจตกทุกข์ได้ยากยิ่งกว่าวันนี้ แต่วันมะรืนเป็นต้นไป อาจจะเป็นวันที่ดีกว่าวันนี้และวันวาน ดังนั้น จงอย่ายอมแพ้ในวันนี้ !”
เพื่อนๆ นักขายครับ ในภาวะเศรษฐกิจทรุดลงต่อเนื่อง กำลังซื้อหดหาย ท่องคำๆ เดียวของแจ็คหม่าไว้ดังๆ ในใจ และแปะไว้ข้างฝาตัวโตๆ ให้กำลังใจตนเองและทีมขายสั้นๆ ว่า “อย่ายอมแพ้” !