“แนวคิดพระโพธิสัตว์”
คอลัมน์ Get Idia 5.0
ศาสตราจารย์ ดร. อุทิส ศิริวรรณ
ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอก ทวิปริญญา
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจ
Charisma University, Providenciales, TC
and
Apollos University, Great Falls, Montana, USA
หนังสือพิมพ์ “เส้นทางนักขาย”
รายปักษ์
ฉบับวันที่ ๑-๑๖ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
ทุกวันนี้ “ฝรั่ง” หันกลับมาสนใจ “แนวคิด” แบบตะวันออก
ทฤษฎีผู้นำทางตะวันออกหลายทฤษฎี ได้ถูกเรียนรู้และนำไปใช้เป็นอันมาก
แนวคิด “พระโพธิสัตว์” ผมว่าเป็นแนวคิดทันสมัย และน่าสนใจ
แม้โลกในยุคโลกาภิวัตน์ จะย่นและย่อลงในลักษณะ “โลกไร้พรมแดน”
กอปรกับกระแส “เทคโนโลยีทันสมัย” ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องราวความสำเร็จและความล้มเหลวของผู้นำในโลกตะวันตกและโลกตะวันออก
วันนี้ ผมขอนำเสนอแนวคิด “พระโพธิสัตว์” ซึ่งพระโพธิสัตว์ แปลว่า “สัตว์ผู้จะตรัสรู้”
และเท่าที่ตรวจสอบ แนวคิดพระโพธิสัตว์ พบบันทึกไว้ในภาษาที่หลากหลาย
ทั้งภาษาบาลี สันสกฤต ทิเบต จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ทิเบต เวียดนาม และอักษรโรมัน
พระธัมมปาละ ระบุไว้ในอรรถกถาสโมทานกถา คัมภีร์ปรมัตถทีปนี ว่าพระโพธิสัตว์มี 3 ประเภท คือ
-
พระมหาโพธิสัตว์พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
-
พระปัจเจกโพธิสัตว์พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
พระสาวกโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้เป็นพระอนุพุทธะ
นอกจากนี้ ในอรรถกถาเถรคาถาในปรมัตถทีปนี
พระธัมมปาละยังจำแนกพระมหาโพธิสัตว์ออกเป็นอีก 3 ประเภทคือ
1. ปัญญาธิกะ คือพระโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีโดยใช้ปัญญาเป็นตัวนำ
2. สัทธาธิกะ คือพระโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีโดยใช้สัทธาเป็นตัวนำ
3. วิริยาธิกะ คือพระโพธิสัตว์สร้างบารมีโดยใช้วิริยะความเพียรเป็นตัวนำ
คุณสมบัติของพระโพธิสัตว์มีอยู่ 3 ข้อใหญ่
-
มหาปรัชญาหรือปัญญาอันยิ่งใหญ่ หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรม ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส
-
มหากรุณาหมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีจิตกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายอย่างปราศจากขอบเขต พร้อมที่จะสละตนเองเพื่อช่วยสัตว์ให้พ้นทุกข์
-
มหาอุปายหมายความว่าพระโพธิสัตว์จะต้องมีวิธีการชาญฉลาดในการแนะนำ อบรมสั่งสอนผู้อื่นให้เข้าถึงสัจธรรม
พระโพธิสัตว์บำเพ็ญ “มหาปณิธาน 4 ประการ” อันประกอบด้วย
-
เราจะละกิเลสให้หมด
-
เราจะศึกษาสัจธรรมให้จบ
-
เราจะช่วยโปรดสัตว์ทั้งหลายให้สิ้น
-
เราจะบรรลุพระพุทธภูมิอันประเสริฐสุด
แนวคิดจริยธรรม 10 ประการของพระโพธิสัตว์ ผมเห็นว่าน่าสนใจ
เป็นแนวคิดที่ทันสมัย และวงการต่างๆ มาสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตและงานได้
แนวคิด “จริยธรรม” กล่าวคือ “ธรรมะที่พึงปฏิบัติ” ประกอบด้วย
-
พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า ร่างกายจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ
-
พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า ร่างกายจะไม่มีภัยอันตราย
-
พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีอุปสรรคในการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์
-
พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีมารขัดขวางการปฏิบัติภารกิจ
-
พระโพธิสัตว์ ถือว่าทำงานให้นานที่สุด โดยไม่ปรารถนาจะให้สำเร็จผลเร็ว
-
พระโพธิสัตว์ คบเพื่อน โดยไม่ปรารถนาจะได้รับผลประโยชน์จากเพื่อน
-
พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาว่า จะให้คนอื่นต้องตามใจตนเองเสมอไปทุกอย่าง
-
พระโพธิสัตว์ ทำความดีกับคนอื่น โดยไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทน
-
พระโพธิสัตว์ เห็นลาภแล้ว ไม่ปรารถนาว่าจะได้รับ
-
พระโพธิสัตว์ เมื่อถูกใส่ร้ายป้ายสี ติเตียนนินทาแล้ว ไม่ปรารถนาที่จะตอบโต้
พุทธภูมิธรรมของนิยตโพธิสัตว์ ในการเพิ่มพูนบารมีให้มากยิ่งขึ้น มีน้ำใจประกอบไปด้วย พุทธภูมิธรรม 4 ประการ คือ
-
อุสสาโห คือประกอบไปด้วยพระอุตสาหะ มีความเพียรอันสลักติดแน่นในจิตใจอย่างมั่นคง
-
อุมัตโต คือประกอบด้วยปัญญา มีปัญญาเชียวชาญเฉียบคม
-
อะวัตถานัง คือมีพระทัยอธิษฐานอันมั่นคง มิได้หวั่นไหวคลอนแคลน
-
หิตจริยา คือประกอบไปด้วยพระเมตตา เจริญจิตอยู่ด้วยพรหมวิหารเป็นปกติ