๒๕๒. ไม่ว่าเราเชื่ออะไร สุดท้ายอะไรที่เราเชื่อนั้น จะกลายเป็นความจริงตามที่เราเชื่อ
อุทิส ศิริวรรณ
เขียน
๑๒ เมษายน ๒๕๖๔
——
“เทวานุภาพ”
นอกเหนือจาก “พระรัตนตรัย”
ผมยัง “เปิดใจ” นับถือเทพด้วย
ในพระไตรปิฎก มีระบุถึง “เทพ” หลายองค์
แต่เทพที่ผมสนใจ กลับเป็น “เทพ” ที่นักบวชฮินดู
คิดและสร้างขึ้นภายหลัง เรียกว่า “เทพช้าง”
หรือ “พระคเณศ”
องค์พระคเณศบางแห่ง เคยแสดง “อิทธิปาฏิหาริย์”
ให้ผมเห็น “ตาเปล่า” มาแล้ว ทั้งที่กรุงเดลี และกรุงเทพมหานคร
ไว้ช่วงเวลาเหมาะสม จะเล่าให้อ่านกันสนุกๆ ว่าอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์
ของพระคเณศเทพเจ้า ก็มีอยู่จริง แต่ต้องปลงใจเชื่อจริงๆ
ยกตัวอย่างการแต่งคัมภีร์ยากๆ ลึกซึ้ง มีรายละเอียดมาก
ว่ากันว่าต้องบูชาพระคเณศ จึงจะเอาชนะอุปสรรคที่ขัดขวาง
การแต่งคัมภีร์สำคัญ อย่าง “คัมภีร์มหาภารตะ”
ว่ากันว่า “ฤาษีวยาสะ” ต้อง “อัญเชิญ” ร่างพระคเณศ
มาช่วยแต่ง จึงแต่งได้สำเร็จ
แต่เดิมมา สมัยเล่าเรียนบาฬีในวัด
กระทั่งเรียน “เทพปกรณัม” เต็มๆ
นับไม่ถ้วน สมัยเรียนปริญญาโท
อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาบาลี-สันสกฤต
ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผมก็ยัง “วางอุเบกขา” รู้สึกเฉยๆ กับ “เทพทั้งหลาย”
อาจเพราะผม “เชื่อ” อะไรยากมาก ถึงยากที่สุด
ต้องมีพยานหลักฐาน ข้อค้นพบเชิงประจักษ์
ผมจึงจะปลงใจเชื่อ
กระทั่ง “ชีวิต” ผมสะดุด ติดๆ ขัดๆ พบเจออุปสรรค
แก้ไขด้วย “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” ธรรมะชั้นสูงทั้งหลายแล้ว
ยังไม่เห็น “ผล” แบบ “ทันตา”
ผมก็เริ่ม “เปิดใจ” ศึกษา “มองมุมใหม่” ต่อเทพ
เริ่มจากผมขบคิดถึง “อุปสรรค” สำคัญคือ
โจทย์ใหญ่ โจทย์ยาก แก้ไขได้ยากในชีวิต
แล้วจากการสืบค้น ค้นคว้าข้อมูล ผมก็สะดุดตากับคำว่า
“พระพิฆเนศวร์” หรือ “พระคเณศ”
ซึ่งสายเทพ นับถือและเชื่อกันว่า
บูชาแล้วจะเอาชนะอุปสรรคนานัปการได้จริง
คำถามผมเวลานั้นคือ
อุปสรรคในชีวิต คืออะไร?
อุปสรรคในชีวิต เกิดจากอะไร?
อุปสรรคในชีวิต มีที่มาจากสาเหตุใด?
ผมได้ข้อค้นพบคือความจริงว่า
อุปสรรคในชีวิต เกิดจาก ความประมาท เลินเล่อ เผอเรอ ไม่ละเอียด
ไม่ระมัดระวัง ไม่รอบคอบ ไม่พร้อม โง่ ไม่ฉลาด ดื้อรั้น อวดดี อวดเก่ง
อวดโง่ ดื้อด้าน อัตตาสูง ทิฐิสูง คิดแต่เอาชนะ เถียงข้างๆ คูๆ
เลี่ยงบาลี
อุปสรรคในชีวิต เกิดจากความหยิ่งผยอง ภาคภูมิใจในความสำเร็จ
ที่เราคิดเองเออเอง สรุปเอาเองว่าเราสำเร็จแล้ว ทั้งที่ยังไม่สำเร็จจริง
อุปสรรคในชีวิต มีสาเหตุเกิดจากเราอดทนไม่พอ อดกลั้นไม่ได้ อดใจไม่อยู่
ระงับยับยั้งจิตใจไม่ไหว โดยภาพรวมเกิดจาก “โลภมาก ไม่รู้จักพอ”
“โทสะ โกรธ เกลียด หมั่นไส้ จับผิด คิดลบ คิดร้าย อารมณ์ชั่ววูบ อิจฉาริษยา
ปองร้าย ประสงค์ร้าย คิดจะเอาชนะ” “โมหะ คิดผิด เชื่อผิด หลงผิด
เข้าใจผิด เข้าใจคลาดเคลื่อนจากความจริง”
ผมเคยนึกทบทวนว่า ถ้าเราทนๆ หน่อย ยอมๆ หน่อย
แกล้งโง่หน่อย แกล้งบ้า ใบ้ หนวก บอด
ระมัดระวังตัว ละเอียด รอบคอบ ใคร่ครวญ ถี่ถ้วน
คิดก่อนทำ คิดก่อนพูด ลงลึกในรายละเอียด
เลือกคบคนที่สนับสนุนส่งเสริมเรา หลีกให้ห่างไกล
คนที่พูดแล้วไม่จริง คนที่รับปากแล้วทำไม่ได้
อุปสรรคน่าจะลดลง เผื่อๆ หน่อย คือทำอะไรต้อง
“เผื่อใจ” เอาไว้บ้าง กันสำเร็จมากเกิน และกันล้มเหลวมากไป
เลือก “ทางสายกลาง” เอาแบบพอดีๆ
อุปสรรคในชีวิตก็คงลดลง
หลังเดินสายไหว้พระคเณศ ควบคู่กับไหว้พระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ช่วงเวลาที่ผมพบพานวิกฤตร้ายแรงรุนแรงที่สุดในชีวิต
ผมค้นพบว่า ปรัชญาพระคเณศ สอนผมเพียงไม่กี่เรื่อง
“ใช้ปัญญาพิชิตปัญหา”
“ใช้สมองและสติเอาชนะอารมณ์และสภาวะจิตใจที่ว้าวุ่น สับสน ขาดสติ”
“ความสำเร็จตามปรัชญาพระคเณศ แท้ที่จริงคือ คำแค่ ๒ คำ
โอกาส + จังหวะ ที่ต้องใช้ “ปัญญา” ฟังมากขึ้น ขบคิดให้ละเอียดมากขึ้น
ภาวนาทบทวนให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น”
แต่เพียงแค่โอกาส – จังหวะ – ปัญญา ก็ไม่อาจทำให้เราสำเร็จได้จริง
ปรัชญาพระคเณศที่แท้จริงคือ
โอกาส+จังหวะ+ปัญญา+ศรัทธา=อิทธิปาฏิหาริย์
ผมพบว่าปรัชญาคติชีวิตค่านิยมการทำงานที่ผมได้จากพระคเณศ
ก็คือ “องค์พระคเณศ” เองนั่นแหละ
ถ้าสังเกต พระคเณศเทพเจ้าเอง มีนิ้วทั้ง ๕ เท่ากับคนอย่างเราๆ ท่านๆ
อะไรที่พระคเณศใช้นิ้วทั้ง ๕ ทำได้ เราๆ ท่านๆ ก็ย่อมทำได้
เชะ….
พระคเณศพุงพลุ้ย สะท้อนว่า ความสำเร็จเกิดจาก “ความรู้”
คล้าย “พระมหากัจจายนะ” ที่พุงพลุ้ยเหมือนกัน
ผมมาขบคิดเชิงเปรียบเทียบว่า “พุงอ้วนๆ” หมายถึงอะไร?
ก็นึกได้ถึงความรู้สึกว่าคนอ้วนคือคนที่อิ่มหมีพีมัน ลงพุง
เพราะกินเยอะ กินมาก มีกินมีใช้ ไม่อดอยาก
คนที่ยากจนไม่พอยาไส้ ไม่มีทางอ้วนลงพุงได้แบบนี้
เพราะไม่มีอะไรจะกิน คนที่อ้วนท้วน ท้วมแบบพระคเณศ
คือคนที่ต้องมีอะไรดีๆ ที่ตนและทีมร่วมกันทำจนสำเร็จ
จึงจะได้ฉลองขัยชนะ คนที่ท้วม คือคนที่มีกิน มีใช้
มั่งมี ไม่อดอยาก เมืองแขกเลยนิยมหา “สตรี” ที่อ้วน กินเก่ง
พุงโตๆ จึงจะร่ำรวย กระทั่งการหา “คู่” อย่าง “ผู้ชาย”
ก็เลือกหาคนที่อ้วนท้วน อุดมสมบูรณ์ แม้กระทั่งเด็กๆ
ก็ชอบเด็กอ้วน อย่างเด็กตราสมบูรณ์ นั่งในพานทอง
อะไรประมาณนั้น
ปรัชญาอ้วนพุงพลุ้ยแบบพระคเณศ ยังเหมาะกับผู้นำองค์กร
คนที่เป็นผู้นำที่มีคุณภาพสูง จะเลี้ยงลูกน้อง ให้ค่าตอบแทน
ค่าอาหาร สวัสดิการ ดูแลอย่างดี จะให้ลูกค้า คู่ค้า หุ้นส่วน
พนักงาน รู้สึกว่าคุ้มค่า คุ้มเหนื่อย ค่าตอบแทนดี
คนที่จ่ายดี ใจถึง พึ่งได้ ส่วนมากเป็น “คนท้วม”
หายากที่จะ “ผอมโซ” หรือ “ผอมแห้งแรงน้อย”
ผมพบและสังเกตดู ผู้นำระดับ CEO ที่ใจถึงพึ่งได้
รวมถึง นายก อบจ. ต่างๆ จะเป็นคนที่ “ท้วม”
เมื่อสังเกตและขบคิด “งวงช้าง” ของพระคเณศเทพเจ้า
พอขบคิดในแง่ตรรกะสมบัติ ไม่ใช่ตรรกะวิบัติ
จะพบความจริงแฝงอยู่ว่า “งวงยาว” คือ “มีแผนการชัดเจน”
มองการณ์ไกล เห็นการณ์ไกล คนที่มองอะไรระยะยาว
จะเป็นคนที่สายตายาวไกล หากินได้ไกล หาเงินได้ง่าย
ได้จากหลากหลายช่องทาง ต่างจากคนที่ “วิสั้น”
ใจคอคับแคบ เห็นการณ์ใกล้ ใจแคบ ไม่เปิดใจ
สุดท้ายคนที่คล้ายช้างที่ “งวงยาวกว่า” จะหากินได้กว่ารายที่
“งวงสั้น” หรือ “ไม่มีงวง” ตีความว่า ไม่มีมือ ไม่มีเท้า
คนที่จะประสบความมั่งคั่งร่ำรวย ต้องมีมือ มีเท้า มีสมองด้วย
ถ้าเราสังเกต ช้างแต่ละเชือก ต้องใช้ “งวง” ยาวๆ ดึงเอาผลไม้เข้าหาตัว
เรียกว่า “ความสำเร็จ” ซึ่งแม้จะอยู่ห่างไกล แต่ก็ได้มาด้วยแผนและการกำหนด
เป้าหมายที่เด่นชัด
สิ่งที่จะเกิดมีคือ “วิสัยทัศน์” ผู้ที่นับถือพระคเณศเทพเจ้่า
จะต้องมองการณ์ไกลว่า ในระยะสั้น ระยะกลาง จนถึงระยะยาว ๑๐ ปีขึ้นไป
จะทำมาหากินอะไร จะหารายได้จากงานอาชีพแบบไหน จะใช้ “งวง”
จับอาหารอะไรเข้าปาก
ถ้าพิจารณา “ดวงตาช้าง” จะพบว่า “ตาเล็ก” ถ้าขบคิดให้แตกลึกซึ้งละเอียด
จะพบว่านี่คือปริศนาของ “ความสุข”
คนที่มีความสุข คือคนที่ปิดหู ปิดตา ปิดปาก ไม่รับรู้ข่าวสารภายนอกมาก
จนเกินความจำเป็น อ่านหนังสืออะไรที่ควรอ่าน ฟังอะไรที่ควรฟัง
รับชมรายการที่มีสาระ ไม่พาตัวเองไปเจอคนที่คิดลบคิดร้าย จับผิด
มองโลกในแง่ร้าย หมั่นไส้ อิจฉาริษยา แทงข้างหลัง
จะขบคิดพิจารณาการต่างๆ ด้วยความละเอียด รอบคอบ
พระคเณศเทพเจ้า มีใบหูขนาดใหญ่ แปลว่า “ฟังมากขึ้น”
คือเลือกที่จะรับฟังเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ ที่เป็นใบเบิกทางสู่เส้นชัย
คือ “ความมั่งคั่งร่ำรวยและความสำเร็จ” ส่วนศาสตร์แห่งความล้มเหลว
ก็ละเว้น มองข้าม ไม่รับฟัง หรือฟังได้ แต่เข้าหูซ้ายทะลุออกหูขวา
มือของพระคเณศเทพเจ้า เป็นปางประทานอภัย ให้อภัย และอโหสิทุกเรื่องราว
ไม่ถือสา ไม่อาฆาต ไม่พยาบาท ปล่อยวาง
ปรัชญาพระคเณศ เชื่ออะไร ก็จะได้ตามที่เชื่อ
ยกตัวอย่าง “ขอพร” ให้มอง “มือ” พระคเณศ
แล้ว “อธิษฐาน” ขอพร
พรที่ควรขอคือ
“จังหวะ” และ “โอกาส” ที่จะ “เสี่ยง”
ขอให้ “กล้า” ที่จะ “เสี่ยง” ใน “จังหวะ” และ “โอกาส”
ที่เหมาะสม
ขอให้พระคเณศเปิดโอกาสและจังหวะที่ควรเสี่ยงให้
เป็น “นิมิต” ที่รู้เฉพาะตน
ขอให้ดลบันดาลให้มีวิสัยทัศน์ เห็นโอกาสจาก
งานที่ทำ โครงการต่างๆ งานใหม่ งานเก่า งานจร
งานที่เกลียด งานที่ชอบ ขอให้มีงานทุกช่องทางที่ทำแล้ว
ได้กำไร ไม่เจ๊ง ไม่เจ็บ ไม่จน
ขอให้ได้รับ “ปัญญา” อันขจัด “อุปสรรค” ขัดขวางต่อ “ความสำเร็จ”
สุดท้ายขอให้ได้รับ “ชัยชนะ” ตามองค์พระคเณศ
สำคัญที่สุดคือ ขอ “โอกาส” จากพระคเณศ
แล้วแปลง “โอกาส” เป็น “ความสำเร็จ” ที่มหัศจรรย์
สามารถทำงานที่ยากจะทำได้ ไม่มีใครทำได้สำเร็จ
แล้วสามารถทำได้จนลุล่วงแล้วเสร็จ
อย่าได้มีความลังเลสงสัย ตัดรอนศรัทธา
ใดๆ อยู่ที่ “ความเชื่อ”
เท่าที่ผมทดสอบและทดลอง
หลายชิ้นงาน หลายโครงการที่ผมทำ
สำเร็จลุล่วง เป็นส่วนมาก
บนเงื่อนไขคือ “บุญ-วาสนา-บารมี-เวลา-โอกาส” บรรจบพบพานกัน
มีแง่คิดว่า ถ้ายังเป็นมนุษย์ปุถุชน นับถือเทพเอาไว้บ้างก็ดี
ขอพรพระ ขอพรเทพ ขอพรเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาไว้บ้าง
แต่ถ้าจิตยกระดับเป็น “อริยะ” หลุดพ้นระดับใดระดับหนึ่งแล้ว
ก็ไม่ต้องสัทธา ไม่ต้องเชื่อ
ไม่ต้องขอ “พลัง” และ “พร” จากพระคเณศ หรือเทพเจ้าใดๆ
ขอพรพระ ขอพรเทพ ขอพรเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาไว้บ้าง
แต่ถ้าจิตยกระดับเป็น “อริยะ” หลุดพ้นระดับใดระดับหนึ่งแล้ว
ก็ไม่ต้องสัทธา ไม่ต้องเชื่อ
ไม่ต้องขอ “พลัง” และ “พร” จากพระคเณศ หรือเทพเจ้าใดๆ
จะได้ดิบได้ดี จะมีจะเป็นอะไรใดๆ อยู่ที่ “ใจ” เรากำหนด