คอลัมน์ How to Win
บุญใคร บุญมัน ตัวใคร ตัวมัน
ศาสตราจารย์ ดร. อุทิส ศิริวรรณ
Research Chairman, DBA Program
www.uofa.edu
23 ธันวาคม 2557
“ภัยจากธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เกิดขึ้นเป็นบางแห่งบางท้องที่เท่านั้น ผิดกับภัยที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ด้วยกันเอง ซึ่งมีอยู่สม่ำเสมอและเป็นภัยที่โหดร้ายอย่างเงียบเชียบ”
ชาติ กอบจิตติ, สุนทรพจน์หนังสือ “คำพิพากษา”
ช่วงปลายปีนี้ถึงเดือนมกราคม 2558 ผมมีภารกิจต้องบินไปสอนโครงการปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยแห่งเศรษฐศาสตร์ นครโฮจิมินห์ เวียดนาม
ข้อดีของการสอนและการทำวิจัยในระดับนานาชาติ ก็คือการได้ “เครือข่าย” อาจารย์ และนักวิจัย จากมหาวิทยาลัยประเทศต่างๆ เชิญให้บินไปสอน ไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์วิจัยกัน
University of Economics, Ho Chi Minh City เป็น 1 ใน 15 มหาวิทยาลัยรัฐเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงแห่งเวียดนาม เป็นอันดับ 1 ในประเทศด้านเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ
ส่วนมากก่อนปีใหม่ สื่อต่างๆ พยายามนำเสนอการทำนายหรือพยากรณ์เศรษฐกิจในปีหน้า
ส่วนตัวผม ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองมานับไม่ถ้วน นับแต่ปี 2529 ปี 2535 ปี 2540 ปี 2549 และถึงปี 2557 สะบักสะบอม แขนขาขาดหลายครั้ง เหลือแค่หัวคิด ก็ต่อตัว และลุกขึ้นมาเดินได้
เรื่อยๆ
มองในภาพรวม ตามทฤษฎีการจัดการระหว่างประเทศ ปัจจัยที่จะนำมาพิจารณาว่ากระทบต่อตัวเราและองค์กรหรือไม่นั้น มี 4 ปัจจัยหลัก นั่นคือ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี
แต่สิ่งหนึ่งที่ในทฤษฎีการจัดการระหว่างประเทศไม่เคยสอน นั่นคือนิยาม “บุญใคร บุญมัน” และ “ตัวใคร ตัวมัน”
สังเกตดูสิ คนเรามีบุญวาสนาไม่เท่ากัน ดังคำพังเพยว่า “แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้” ดังนั้น วิธีคิด วิธีทำงาน ก็ย่อมไม่เหมือนกัน สไตล์ใครสไตล์มัน ความสำเร็จก็ต่างกัน
จากการสังเกต ผมพบว่า คนรอบตัว รวมทั้งผม จะต้องเผชิญ “บทเรียน” และ “การทดสอบ” ครั้งสำคัญทางเศรษฐกิจ หลายๆ ครั้งในชีวิต
จะผ่อนหนักให้เป็นเบา ผ่อนร้ายให้เป็นดี ขึ้นอยู่กับ “วิธีคิด” และ “วิธีทำ”
คนเรา จะเอาตัวรอดจากภัยเศรษฐกิจให้ได้ ก็ต้องมี “วิธีคิด” และ “วิธีทำ” ที่ไม่เหมือนใคร
ดังที่ผมจั่วหัวไว้ว่า “บุญใคร บุญมัน” กับ “ตัวใคร ตัวมัน”
เศรษฐกิจ เป็นคำรวมของคำว่า “การผลิต” “การจัดจำหน่าย” และ “การบริโภค” สินค้าและบริการ
ดังนั้น วิธีคิด และวิธีทำของแต่ละคน ต้องเลือกเฟ้นว่า เราอยู่ส่วนไหนของเศรษฐกิจ “ผลิต” “จำหน่าย” หรือ “บริโภค”
ถ้าตีโจทย์นี้แตก ก็จะรอดพ้นจากภัยเศรษฐกิจ
อีกหลักคิดหนึ่งคือ “ภาพรวม” ของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนผ่านรวดเร็ว จากยุคเศรษฐกิจที่เกิดจากการผลิตผ่านเลยไปยังอุตสาหกรรม การบริการ สร้างสรรค์ และล่าสุด “เศรษฐกิจยุคดิจิตอล”
กลยุทธ์สู่ชัยชนะวันนี้ ต้องเน้น “บุญใคร บุญมัน” ควบคู่กับ “วิธีคิด วิธีทำ” ที่เป็นแบบ “ตัวใคร ตัวมัน”
“บุญใคร บุญมัน” หมายถึง คนเรา ต้องศรัทธาในสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “ขยัน” ขอให้ขยันก็ไม่มีวันจนหรืออดตาย ยึดหลัก “อดออม” หาได้แล้วต้องเก็บไม่ใช่ใช้จนหมด “คบคนดี” มีคนรอบตัวชวนทำ
โอกาสใหม่ๆ โครงการใหม่ๆ และ “เรียบง่าย” รู้กิน รู้อยู่ ไม่อวดร่ำ ไม่อวดรวย กินง่าย อยู่ง่าย ไม่เรื่องมาก
“วิธีคิด วิธีทำ” ที่เรียกว่า “ตัวใครตัวมัน” ก็คือสไตล์ใคร สไตล์มัน คนเราแต่ละผู้ มีวิธีคิด วิธีทำงาน แตกต่างกัน บางคนเหมาะจะเป็นมนุษย์เงินเดือน บางคนก็เหมาะจะทำอาชีพอิสระ บางคนก็ถูกโฉลก
กับการเป็นเถ้าแก่ เป็นเจ้าของกิจการ
ทุกคนย่อมรู้ศักยภาพ ฝีมือ ทักษะ ความรู้ ความสามารถ จุดแข็ง และจุดอ่อนของตนเอง
เมื่อวางตำแหน่งตนเองเข้ากับ “การผลิต” “การจำหน่าย” และ “การบริโภค” สินค้าและบริการ รวมถึงเศรษฐกิจแต่ละยุคได้ลงตัว ถึงเศรษฐกิจจะทรุดอย่างไรก็ไม่กระเทือน เพราะมีรายได้เข้ามาสม่ำ
เสมอ
“รายได้หลายทาง” เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ จำไว้ว่า วิธีเอาชนะเศรษฐกิจให้ได้ผล ต้องมีแหล่งที่มาของเงินได้จากหลายทิศทาง
“รายได้หลายทาง” คือคำตอบของการเอาชนะภัยเศรษฐกิจที่กำลังคุกคามสังคมไทยขณะนี้ อยากชนะ ก็นำแง่คิดที่ผมนำเสนอข้างต้นไปทำดูครับ แล้วจะพบว่า “บุญใครบุญมันตัวใครตัวมัน” เป็นเรื่อง
ที่พิสูจน์ได้จริงครับ!